วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

BMW X6M


BMW X6M นี้ถือว่าเป็นรถอีกรุ่นนึงของ BMW ที่ออกแบบมาได้อย่างสวยงามลงตัว หลังจากที่ทำตลาดรถ suv อยู่พักนึงโดยมี x3 และ x5 เป็นตัวทำตลาดให้ BMW มาอยู่หลายปี และ BMW X6M นี้ถ้าให้มองโดยรวมแล้วผมว่ามันก็คือการนำเอารถตั้ง3 รุ่น 3ตระกูลมารวมกันครับ โดยมี sport z4 เพราะว่าทำความเร็วจาก 0-62 ไมล์ได้ในเวลาเพียง 4.7 วินาที
มี suv x5 เพราะว่ามีรูปทรงที่บึกบึนและระบบการขับเคลือน off road [4 wheel drive]
มี sedan serie 5 เพราะภายในที่ดูหรูหราและความกว้างสบายไม่เหมือนรถ suv ทั่วไป
ครับนั้นก็คือการรวมเอาสายพันธุ์ทั้งสามมารวมตัวกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะอยากหรู อยากลุย หรืออยากซิ่งก็รวมอยู่ในนี้หมด ที่พูดถึงทั้งหมดนี่มันแค่ BMW X6 นะครับ และรุ่นล่าสุดที่ได้รับการประทับตรา M ต่อท้ายมาด้วยนั้นมันยิ่งน่าจะเพิ่มความน่าสนใจและความเร้าใจได้ขึ้นอีกเยอะเลยล่ะครับ
ลองมาดูสมรรถภาพกันแบบคร่าวๆของรถกันดูครับ รถคันนี้เป็นรถ 4 ที่นั่งแบบยกสูง น้ำหนักตัวรวม 2,380 กก. ที่สามารถทำความเร็วจาก 0-62 ไมล์ได้ในเวลา 407 วินาที [เร็วมากครับ สำหรับ suv ]และสามารถทำความเร็วได้ที่ 155 ไมล์/ชม. และสามารถทำความเร็วได้ถึง 171 ไมล์/ชม. จากการทดลองของฝ่าย M
ความลับเบื้องหลังตัวเลขที่น่าประทับใจนี้มาจากขุมพลังที่พัฒนาจากเครื่อง V8 ขนาด 4.4 ลิตรในรุ่นxDrive 50i ที่เพิ่มกำลังอีก 145 แรงม้าเป็น 547 แรงม้า ความแตกต่างหลักๆ ระหว่างขุมพลังทั้ง 2 แบบก็คือท่อรวมไอเสียลิขสิทธิ์เฉพาะที่วางอยู่ระหว่างฝาสูบทั้งสองข้าง ซึ่งช่วยให้แรงบิดสูงสุด 201 ปอนด์ฟุตออกมาอย่างคงที่ตั้งแต่ 1500ไปจนถึง 5650รอบต่อนาที
ช่วงแรงบิดที่กว้างนี้สามารถสร้างอัตราแรงบิดที่ดุเดือนได้ทุกเกียร์ กดคันเร่งเต็มที่แล้ว X6 จะพุ่งทยานไปข้างหน้าอย่างไม่มีการแสดงอาการล้าให้เห็นเลยครับ เกียร์ 6 speed ของ zf ก็ทำงานอย่านุ่มนวลฉับไวและยังมีความน่าทึ่งของระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาชวยอีกด้วยโดยเมื่อคุณเปลี่ยนเกียร์ในโหมด sport สมองกลจะตัดการทำงานของลูกสูบ 1สูบเพื่อลดภาระจากแรงบิด ซึ่งเรายังสามารถเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้จาก paddle จาก M Style ด้านซ้ายเป็น + ด้านขวาเป็น - ซึ่งดีกว่ากดแล้วดึงเข้าหาตัวแบบ X6 รุ่นธรรมดา แต่ว่ามันน่าจะมีบุคลิคที่ชัดเจนกว่านี้หน่อย มันรู้สึกเหมือนถูกสร้างมาถึงขีดสุด และจะไม่ทำให้ตื่นเต้นตอนเร่งเครื่องเต็มที่ ในห้องโดยสารนั้นเงียบสนิท มีแต่คนข้างนอกที่จะได้ยินเสียงเครื่องยนต์คำราม

เรื่องอัตราเร่งและความเร็วนั้นไร้ที่ติครับ เช่นเดียวกันกับรถที่ติดโลโก้ M ทุกรุ่น แต่การที่เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ทำให้ X6 จึงไม่สามารถทำความเร็วได้ดีเท่า X3 และ X5 และเนื่องจากมันคือรถ M อีกรุ่นนึง ทาง BMW จึงจัดการเปิดตัว X6 ในสนาม road atlanta ที่คดเคี้ยวและเป็นลอน ซึ่งเหมาะกับรถแข่งทางไกล และพวกขับ 2 ล้อมากกว่า suv อย่าง X6 เพราะมันเหมือนไม่ใช่ที่สำหรับ X6 การอัดมันเข้าโค้งแรงๆ คุณจะเจออาการอันเดอร์สเตียร์ค่อนข้างชัดเจนก่อนที่มันจะกระจายกำลังไปยังล้อต่างๆ และหากยกคันเร่งก็จะมีอาการโอเวอร์สเตียร์นิดๆ ก่อนที่ระบบต่างๆ จะทำให้รถกลับมาสภาพปรกติ
เมื่อมันออกจากสนามมันน่าประทับใจขึ้นเยอะเลยครับ แค่กดปุ่ม M ทุกระบบทั้งช่วงล่าง พวงมาลัย และการถ่ายทอดกำลังก็จะเข้าสู่โหมด sport และ X6 ก็จะกลายเป็นรถที่เร็วที่สุด และเกาะถนนแนบแน่น และถึงแม้ว่าจะเป็นรถยกสูงแต่มันกลับมีอาการโคลงแค่นิดหน่อยแค่นั้นเอง

สุดยอดเลยใช่มั๋ยครับ แต่ว่ามันก็ดีกว่ารุ่นธรรมดาไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งในรุ่น xDrive50i ก็แรงพอสำหรับการใช้งานส่วนใหญ่ โดยเร่ง 0-62ไมล์/ชม. ใน 5.4 วินาที และความเร็วสูงสุด 155 ไมล์/ชม.เช่นกัน และดูไม่เทอะทะเหมือนรุ่น M เวลาอยู่บนถนนอีกด้วยครับ สำหรับภายในนั้น X6 M ทำได้ไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราคาดหวังจากรถรุ่น M ลองนั่งรถรุ่น 335i สักพักนึงแล้วลองย้ายไปนั่ง M3แล้วคุณจะเห็นถึงความแตกต่าง แต่ถ้าลองทำแบบเดียวกันนี้กับ X6 นอกจาก paddle เปลี่ยนเกียร์แล้วก็แทบจะไม่เห็นความพิเศษหรือแตกต่างอย่างอื่นเลย

ส่วนภายนอกนั้นลองมองและใช้ความคิดเห็นส่วนตัวดู กันชนสีเดียวกับตัวรถ คิ้วขอบล้อ และชายล่างตัวถังที่เพิ่มเข้ามาก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ส่วนล้อขอบ 20 นิ้วก็จมหายไปกับซุ้มล้อ ส่วน X5 M ก็ดูเหมือนใส่ชุดแต่งจากข้างนอกมากกว่า มันหมายความว่า BMW ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยหรือนอกจากการติดโลโก้ ถึงแม้ว่าBMW จะใช้เทคโนโลยีEfficient Dynamic อันยอดเยี่ยม แต่ว่าเจ้า X6 ก็ยังซดน้ำมันอยู่ที่ 20ไมล์/แกลลอน แถมยังปล่อย co2 ใสดถึง325 กรัม/กม.หรือว่านี่คือตัวฆ่าเวลาเพราะได้ข่าวมาว่า กำลังเตรียมการเปิดตัว X6 Hybrid ในเร็ววันนี้
ถ้า BMW ต้องการผลิตเวอร์ชั่น M ของ X6 จริงๆ ทำไมถึงไม่จูนระบบ Active Dynamic ให้ส่งกำลังไปที่ล้อหลังเพิ่มมากขึ้นล่ะ หรือไม่ก็ให้ผู้ขับขี่สามารถปรับระดับได้เองจากปุ่ม iDrive โดยสรุปจากทีมงานทดสอบที่เขาได้ทำการทดสอบกัน ก็รู้สึกว่าที่เด่นจริงๆของ X6 นี่ก็มีแค่เครื่องยนต์ ส่วนระบบอื่นๆและรายละเอียดต่างๆ ก็ยังไม่มีอะไรเด่นหรือน่าสนใจ ไม่สมกับโลโก้ M

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Porsche Boxster Spyder


เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแฟนของ 911 แล้ว บรรดานักขับสปอร์ตเปิดประทุนสายพันธุ์บ็อกสเตอร์ของค่ายปอร์เชอาจจะน้อยอกน้อยใจ เพราะที่ผ่านมา มีทางเลือกใหม่ๆ ของความแรงและความสวยให้สัมผัสเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น นอกจากรุ่นปกติที่วางขายอยู่ในตลาด ไม่มีเวอร์ชันพิเศษหรือตัวแรงหลายแบบหลายสไตล์เหมือนอย่างที่ 911 มี






แต่ในตอนนี้ปัญหานี้กำลังจะหมดไป เมื่อปอร์เชวางแผนเปิดตัวเวอร์ชันสปายเดอร์ของรุ่นบ็อกสเตอร์ ซึ่งเรียกว่าเป็นที่สุดของสายพันธุ์ออกมาในงานแอลเอ มอเตอร์โชว์ ซึ่งมีคิวจัดงานในเดือนธันวาคมปีนี้ ก่อนจะเริ่มทำตลาดทั้งพวงมาลัยซ้ายและขวาในช่วงต้นปี 2010


นับตั้งแต่เจนเนอเรชันแรกเปิดตัวในปี 1996 จนมาถึงรุ่นนี้ซึ่งเป็นเจนเนอเรชันที่ 2 ปอร์เช่แทบไม่มีทางเลือกใหม่ที่ถือว่าเป็นรุ่นพิเศษที่ได้รับการผลิตบนพื้นฐานของสปอร์ตเปิดประทุนเครื่องยนต์วางกลางรุ่นนี้ออกมาขายเลย จะมีก็เพียง 2 ครั้งในปี 2004 และ 2008 ที่มีการผลิตเป็นลิมิเต็ด เอดิชันออกมาขาย แต่ก็มีจำนวนไม่มากเท่าไร และไม่ได้เน้นความสวยและความเร้าใจในการขับเหมือนกับเวอร์ชันสปายเดอร์รุ่นนี้






สำหรับเวอร์ชันสปายเดอร์ถือเป็นการย้อนยุคกลับไปสู่ความรุ่งเรืองของตำนานตัวแรงเปิดประทุนอย่าง 550 สปายเดอร์ ที่โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 1950 และตัวรถมีน้ำหนักเบาเพียง 550 กิโลกรัมเท่านั้น ไล่มาจนถึง RS Spyder ตัวแข่งต้นแบบสำหรับการแข่งขันเลอ มังส์ 24 ชั่วโมง ซึ่งถือป็นแม่แบบรถแข่งทางเรียบมาราธอนของปอร์เชสำหรับยุคปัจจุบัน

ประเด็นหลักที่ถือว่าเป็นจุดที่เน้นสำหรับเวอร์ชันนี้คือ การลดน้ำหนักตัวถัง โดยจับรีดไขมันจนมีตัวเลขอยู่ที่ 1,275 กิโลกรัม และถือเป็นบ็อกสเตอร์ที่มีน้ำหนักเบาสุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นธรรมดาบ็อกสเตอร์ และตัวแรงบ็อกสเตอร์ เอส โดย 80 กิโลกรัมที่หายไปเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นบ็อกสเตอร์ เอส คือ การเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาในการผลิตตัวถังบางจุด ชุดหลังคาอ่อนแบบพับได้ถูกถอดออกไปแทนที่ด้วยหลังคาแบบโครงที่หุ้มด้วยผ้าใบซึ่งสามารถถอดและติดตั้งได้ และตัดอุปกรณ์มาตรฐานที่ไม่จำเป็นออกไป












ขณะที่รูปลักษณ์โดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นปกติอย่างสังเกตได้อย่างชัดเจน โดยตัวถังส่วนท้าย ซึ่งมีการออกแบบในส่วนของตัวถังที่แต่เดิมเป็นฝาปิดส่วนเก็บหลังคาอ่อนซึ่งดูแล้วสปอร์ตและดุดันขึ้น โดยมีการอิงรายละเอียดมาจากซูเปอร์คาร์รุ่นดังอย่างคาร์เรรา จีที


เมื่อตอนติดตั้งหลังคาซึ่งเป็นโครงหุ้มด้วยผ้าใบเข้าไป แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการกันแดด ลม หรือฝนของชุดหลังคาเหมือนเดิม แต่แนวเส้นของชุดหลังคาผ้าใบเมื่อมองจากทางด้านข้างแล้วจะพบว่ามีความลาดเอียงมากขึ้น เพื่อความสวยสปอร์ต และความเพรียวลม และสอดรับกับตัวรถได้เป็นอย่างดี อีกทั้งตัวรถยังได้รับการปรับแต่งให้มีจุดศูนย์ถ่วง หรือ CG-Centre of Gravity ที่ต่ำลง เช่นเดียวกับระบบช่วงล่างทั้งด้านหน้าและหลังที่ได้รับการปรับแต่งให้มีความหนึบและการทรงตัวที่ดี

benz e class

<
เมอร์เซเดส-เบนซ์ส่ง อี-คลาส 3 รุ่นใหม่เริ่มต้น 4.6 ล้านบาท
หลังส่ง อี 500 และอี 350 คูเป้ ลุยตลาดไปก่อนหน้า ล่าสุด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว “อี-คลาส ใหม่” เพิ่มอีก 3 รุ่น ทั้ง E 250 CGI BlueEFFICIENCY AVANTGARDE Sedan, E 250 CGI BlueEFFICIENCY ELEGANCE Coupé และ E 250 CGI BlueEFFICIENCY AVANTGARDE Coupé Sports AMG โดยเป็นการนำเข้าทั้งคัน (CBU) ก่อนตัวประกอบในประเทศจะพร้อมทำตลาดต้นปีหน้า



















เมอร์เซเดส-เบนซ์ E-Class โฉมใหม่มาพร้อมกับรูปลักษณ์ที่ภูมิฐานสมฐานะในรุ่นซาลูนและโฉบเฉี่ยวนำสมัยแบบเร้าใจในรุ่นสปอร์ตคูเป้ ด้วยได้รับการสืบทอดแนวคิดการออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้านหน้าโดดเด่นด้วยไฟคู่หน้าทรงเหลี่ยมสี่ดวง อันเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัวของ E-Class สวยหรูด้วยไฟสำหรับขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED นอกจากนี้ดีไซน์ของ E-Class โฉมใหม่ยังโดดเด่นด้วยค่า สัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ (Cd) เพียง 0.26 ในรุ่นซาลูน และ 0.25 ในรุ่นสปอร์ตคูเป้ ซึ่งต่ำที่สุดในรถระดับเดียวกัน ทำให้ E-Class เป็น ยนตรกรรมหรูที่ใช้หลักอากาศพลศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพและได้ชื่อว่าเป็นรถที่ลู่ลมมากที่สุด ที่สำคัญยังช่วยประหยัดน้ำมันได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ในรุ่น E 250 CGI จะมากับเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.8 ลิตร เทอร์โบชาร์จ ให้กำลังสูงสุด 204 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร ที่ 2,000-4,300 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 7.8 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุด 238 กม./ชม.

ในด้านความปลอดภัย นอกจากระบบปกป้องก่อนเกิดเหตุ (PRE-SAFE® ) ที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานแล้ว E-Class โฉมใหม่ยังประกอบด้วยเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (ATTENTION ASSIST), ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Adaptive Highbeam Assist) ที่จะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนลำแสงของไฟหน้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์การขับขี่โดยลำแสงนี้จะไม่รบกวนสายตาของผู้ขับขี่รถคันหน้าหรือที่วิ่งสวนทางมา และระบบส่องสว่างอัจฉริยะ (Intelligent Light System)














“เมอร์เซเดส-เบนซ์ E-Class เป็นยนตรกรรมที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในรุ่นเดียวกัน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 72% และยนตรกรรม E-Class ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเทคโนโลยี ทางด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความประหยัดและการรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ E 250 โฉมใหม่ทั้ง 3 รุ่น ที่บริษัทฯนำเสนอในครั้งนี้ ยังได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานในประเทศไทยโดยเฉพาะ”ศาสตราจารย์ ดร. อเล็กซานเดอร์ เพาฟเลอร์ ประธานบริหาร บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) กล่าวและว่า

เมอร์เซเดส-เบนซ์ E-Class เป็นยนตรกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และยังคงเป็นผู้นำตลาดรถหรูในรุ่นเดียวกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ E-Class สามารถทำยอดจำหน่ายได้ถึง 1,581 คัน โดยสามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 72% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 33% นอกจากนี้ E-Class ยังเป็นรุ่นที่นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมความหลากหลายในด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแรกที่นำเสนอเทคโนโลยี CDI และ NGT โดยในปีนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ E-Class จะนำเสนอเทคโนโลยี CGI BlueEFFICIENCY นวัตกรรมล่าสุดเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากท่านลูกค้าเหมือนเช่นเคย

ราคา


รุ่น ราคา(บาท)
E 250 CGI BlueEFFICIENCY AVANTGARDE 4,649,000
E 250 CGI BlueEFFICIENCY ELEGANCE Coupé 4,999,000
E 250 CGI BlueEFFICIENCY AVANTGARDE Coupé Sports AMG 5,299,000

เป็นยังงัยกันบ้างครับ สนใจคันไหนก็รีบไปจับจองกันซะ แค่ไม่กี่ล้านเองครับ 555
ขอบคุณบทความจาก ผู้จัดการออนไลน์

volvo model change


ปีหน้าเจอกัน...Volvo S60 โมเดลเชนจ์
อุ่นเครื่องด้วยต้นแบบตามมอเตอร์โชว์ตลอดทั้งปี 2009 ในที่สุดวอลโว่ก็จัดการเผยภาพแรกของ S60 คันจริงที่จะทำตลาดปีหน้าออกมาแล้ว ด้วยเส้นสายและสไตล์ของรูปลักษณ์ภายนอกที่ถอดแบบมาจากตัวต้นแบบ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ของตัวรถยังไม่เปิดเผยออกมาตอนนี้






S60 เป็นรถยนต์นั่งขนาดกลางของวอลโว่ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2000 และเจนเนอเรชันแรกของรถถือว่ามีอายุการทำตลาดยาวนานเอาเรื่อง เพราะเพิ่งจะมาเปลี่ยนโฉม หรือโมเดลเชนจ์กันในปี 2010 ซึ่งตัวรถถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแทนตลาดรุ่น S70 หรือ 850 เดิม พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อรุ่นใหม่ตามแนวทางในการทำตลาดของวอลโว่
กลุ่มที่เป็นรถยนต์ซีดาน 4 ประตูจะใช้ตัวเลขต่อท้าย S ที่นำหน้าด้วยตัวเลขคู่เท่านั้น เช่น S40 (ซึ่งรุ่นแรกไม่ว่าจะเป็นแวกอนหรือซีดานจะใช้ชื่อ S40 ทั้งหมด แต่พอเป็นรุ่นใหม่ถึงจะแยกออกมาเป็น S40 สำหรับซีดาน และ V50 สำหรับแวกอน), S60 และ S80

ขณะที่ตัวถังอื่นๆ เช่น แวกอน เอสยูวี และสปอร์ต จะใช้ตัวเลขนำหน้าด้วยเลขคี่ (ยกเว้นรุ่น XC60) ส่วนตัวอักษรจะแบ่งออกเป็น C สำหรับคูเป้ เช่น C30 และ C70 ตามด้วย V สำหรับแวกอน เช่น V50 และ V70 และ XC สำหรับเอสยูวี เช่น XC70 และ XC90

ภาพที่เห็นอยู่นี้เป็นภาพแรกที่วางวอลโว่นำออกเปิดเผยอย่างเป็นทางการของ S60 เจนเนอเรชันที่ 2 ซึ่งถอดแบบความลงตัวทางด้านรูปลักษณ์มาจากต้นแบบที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้ซึ่งเปิดตัวงานดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ 2009 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสลัดส่วนที่ล้ำสมัยของต้นแบบออกไป และแต่งเติมรายละเอียดให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงในปัจจุบัน

ส่วนรายละเอียดหรือภาพภายในอย่าเพิ่งถามตอนนี้ เพราะภาพจริงของ S60 ที่พร้อมขายในตลาดยังไม่เปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับภาพด้านท้าย เพราะภาพที่เป็น Official จริงๆ จากวอลโว่มีแค่ด้านหน้า และด้านข้างเท่านั้น






ตัวรถได้รับการพัฒนาอยู่บนพื้นตัวถังรหัส P24 เช่นเดียวกับ V70 และ XC60 ซึ่งวอลโว่หมายมั่นปั้นมือว่า S60 ใหม่จะสามารถแข่งขันกับคู่ปรับจากเยอรมนีทั้งออดี้ เอ4, เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส และบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ได้ โดยตัวรถจะมาในแบบขับเคลื่อนล้อหน้า และอาจจะมีรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อตามออกมาขายในอนาคต

ส่วนเครื่องยนต์ยังไม่เปิดเผยเช่นกัน แต่สื่อหลายแขนงระบุว่า จะมีทั้งแบบ 5 สูบ 2,500 ซีซีแบบ LPT หรือ Light Pressure Turbo ปรับบูสต์ต่ำ และ 6 สูบ 3,200 ซีซี ส่วนรุ่น 1,600 ซีซี GTDi ที่ติดตั้งในรุ่นต้นแบบ และเป็นเครื่องยนต์แบบไดเร็กต์อินเจ็กชันแบบเทอร์โบ หรือ Gasoline Turbocharged Direct Injection มีแนวโน้มว่าจะได้สัมผัสกันใน S60 ใหม่

สำหรับระบบความปลอดภัยที่น่าสนใจและเป็นของใหม่คือ Pedestrain Detection หรือระบบตรวจจับคนข้ามถนนและเดินถนน โดยระบบจะทำการเบรกโดยอัตโนมัติหากมีคนข้ามถนนตัดหน้า และคนขับไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการกระแทกแป้นเบรกได้ทันท่วงที

S60 มีคิวเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2010 เดือนมีนาคมนี้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และจะมีฐานการผลิตอยู่ที่โรงงานในเมืองเกงค์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยหลังเปิดตัวแล้วคาดว่าจะเริ่มขายในยุโรปทันที ใครที่สนใจก็เก็บเงินรอกันได้เลย

volvo


เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ “วอลโว่” ภาพจำในใจของผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะนึกถึง คนแก่หรือไม่ก็รูปทรงเหลี่ยม แข็งทื่อ ไร้เส้นสายโค้งมนของตัวรถ ทั้งหมดที่กล่าวมากำลังจะกลายเป็นอดีตไป หลังการเผยโฉมของ “เอ็กซ์ซี60”โมเดลที่กลายเป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวอลโว่

ด้วยรูปโฉมภายนอก ดีไซน์ฉีกแนวทางเดิมไปอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นคอนเซ็ปต์คาร์ และเมื่อคลอดออกมาจำหน่ายจริงไม่ทำให้คนรอต้องผิดหวัง โดยได้รับคำชื่นชมจากสื่อมวลชนและคว้ารางวัลมายืนยันความสำเร็จมากมายทั้งด้านการออกแบบและความปลอดภัย


สำหรับเมืองไทย “วอลโว่ คาร์ส ประเทศไทย” นำ เอ็กซ์ซี60 เข้ามาเปิดตัวทำตลาดด้วยเช่นกัน เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยเป็นรูปแบบนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน(CBU) แนวทางการทำตลาดแบบCBUกำลังจะกลายเป็นหลักของวอลโว่แทนการขึ้นไลน์ประกอบในประเทศไทย(CKD)ไปเสียแล้ว เพราะยอดขายทั้งแบรนด์วอลโว่หดตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ไม่คุ้มหากจะทำการขึ้นไลน์ผลิต

เนื่องจากการผลิตรถยนต์แต่ละรุ่นจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง หากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าอาจจะทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหาได้ ดังนั้นคงไม่แปลกใจหากอนาคตจะเห็นโมเดลใหม่ๆ ของวอลโว่ ใช้วิธีการนำเข้าแบบสำเร็จรูปมาทำตลาด


แนวทางดังกล่าวจะมีผลอย่างมากต่อราคาขายของรถ ทำให้ผู้บริโภคที่อยากใช้รถวอลโว่ต้องจ่ายแพงกว่าเดิม ไม่ใช่เพื่อให้บริษัทฯ ได้กำไรมากขึ้น แต่เนื่องจากผู้บริโภคต้องจ่ายค่าภาษีนำเข้าสูงกว่ารถประกอบในประเทศต่างหาก


แน่นอนว่า แนวทางนี้วอลโว่เองไม่อยากจะทำแต่จำเป็นต้องเลือกเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกที่ยังไม่รู้ว่าถึงจุดต่ำสุดหรือยัง การลดความเสี่ยงและต้นทุนการดำเนินงานจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางในการช่วยให้ค่ายรถยนต์สามารถเอาตัวรอดผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้

กลับมาเข้าเรื่องของการทดลองขับเจ้าวอลโว่ เอ็กซ์ซี60 โดยทีมงาน“ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับเอ็กซ์ซี60เป็นเวลา 3 วันสบายๆ และก่อนที่จะไปถึงเรื่องราวของสมรรถนะ มาทำความรู้จักเอ็กซ์ซี60 คันเก่งกันก่อน

เอ็กซ์ซี60 ทำตลาดด้วยทางเลือกเดียวคือ เครื่องยนต์แบบดีเซล ขนาด 2.4 ลิตร 5 สูบ คอมมอนเรลเทอร์โบ ให้กำลังสูงสุด 185 แรงม้า ที่4000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ที่ 2000-2750 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดพร้อมระบบเกียร์ทรอนิก(เล่นเกียร์ได้แบบเกียร์ธรรมดา) และขับเคลื่อนทุกล้อ








อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ด้วยความเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปส่งผลให้ เอ็กซ์ซี60 มีราคาค่าตัวแบบมาตรฐานอยู่ที่ 3.999 ล้านบาท ที่เราบอกเช่นนี้เพราะว่า วอลโว่ คาร์ส ประเทศไทย จัดชุดออพชั่น พิเศษ ไว้ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค โดยมีสนนราคาที่ต้องจ่ายเพิ่ม ดังต่อไปนี้

ออพชั่นพิเศษ จะมาเป็นแพคเกจ มีด้วยกัน3 แพคเกจได้แก่ ทางเลือกแรก ประกอบไปด้วย กล้องและสัญญาณเตือนมุมอับของสายตา, ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติแบบปรับเปลี่ยนได้, ระบบเตือนเพื่อป้องกันการชนและช่วยในการหยุดรถอัตโนมัติ, ระบช่วยให้ผู้ขับขี่รักษาระยะห่างจากรถคันหน้าได้, ระบบเตือนผู้ขับเมื่อขับรถออกนอกเส้นทางแบ่งช่องทางจราจร และระบบแจ้งเตือนผู้ขับขี่เมื่อแสดงอาการเหนื่อยล้าหรือขาดสมาธิ ทั้งหมดนี้เราต้องจ่ายเพิ่มรวม 350,000 บาท

ออพชั่นที่ 2 ระบบช่วงล่างแบบปรับเปลี่ยนได้ สามารถเลือกรูปแบบการขับขี่ได้ 3 สไตล์คือ คอมฟอร์ต(Comfort), สปอร์ต(Sport) และ แอดวานซ์(Advance) ราคา 120,000 บาท และออพชั่นสุดท้าย คือ หลังคากระจกแบบพาโนรามิค (Panoramic Roof) ราคา 150,000 บาท โดยออพทั้งหมดที่กล่าวมาจะติดตั้งจากโรงงานประกอบรถยนต์เกนท์ ในประเทศเบลเยี่ยม

ขณะที่อุปกรณ์เสริม(Accessory)ที่ติดตั้งในประเทศมีหลายรายการเช่น แผงกันชนหน้า ปลายท่อไอเสีย และดีวีดี เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่วอลโว่ ไม่ได้แจ้งเราไว้ โดยคันที่เราได้ทดลองขับนั้นมาแบบฟูลออพชั่น ครบทุกอย่างดังที่กล่าวมาทั้งหมด






การเดินทางเริ่มต้นยามค่ำคืนบนถนนวิภาวดี พลันสตาร์ทเครื่องโดยยังเปิดประตูรถอยู่ เสียงเครื่องยนต์ดีเซลภายนอกรถนั้นดังกระหึ่ม ไม่ต่างจากรถปิกอัพทั่วไป แต่เมื่อเราปิดประตูเรียบร้อย ความเงียบก็เข้าครอบงำทันที เสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามารบกวนในห้องโดยสารน้อยมาก

เหยียบคันเร่งออกตัว เอ็กซ์ซี60 ตอบสนองแบบสบายๆ ตามสไตล์รถวอลโว่ คันเร่งหนักกำลังดี พวงมาลัยเบามือ หักเลี้ยวง่าย ขับเรื่อยๆ ความเร็วราว 60-90 กม./ชม. บนถนนวิภาวดี ในโหมดช่วงล่างแบบ คอมฟอร์ต ให้ความรู้สึกนุ่มนวล ไม่กระด้าง การทรงตัวมีโยนตัวบ้างตามลักษณะผิวถนน

แต่เมื่อลองเปลี่ยนช่วงล่างมาเป็นแบบ สปอร์ต คอยเวลาเพียงชั่วอึดใจเราจะรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ของช่วงล่างที่แข็งขึ้น รู้สึกถึงสภาพผิวถนนสะท้อนมาที่ตัวเราได้มากกว่าเดิม ยิ่งเจอช่วงที่สภาพผิวถนนเป็นคลื่นแรงสะเทือนชัดเจนมาก

เมื่อเปลี่ยนมาเป็นโหมด แอดวานซ์ เรายิ่งรับรู้ถึงแรงสะเทือนได้มากกว่าเดิม ช่วงล่างแข็งขึ้นไปอีกระดับ เจอคลื่นบนถนนเมืองไทย ต้องเรียกว่า เด้ง จนขับแทบไม่ได้เลย เมื่อวิ่งด้วยความเร็วเกิน 60 กม./ชม. เป็นต้นไป แต่ในโหมดนี้เมื่อวิ่งแบบในเมืองความเร็ว ไม่เกิน 40 กม./ชม. กลับให้ความรู้สึกมั่นคงกว่าโหมดอื่นอย่างชัดเจน





จากนั้นเราได้ลองขับบนทางด่วนดอนเมือง-โทลเวย์ วิ่งทดสอบในย่านความเร็วสูงราว 100-140 กม./ชม. ด้วยโหมดแรก คอมฟอร์ต รถขับสบายการส่งกำลังต่อเนื่องไหลลื่น จังหวะคิกค์ดาวน์รถพุ่งทันใจสมกับแรงบิดระดับ 400 นิวตันเมตร ผสานการทำงานกับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ที่ลงตัว ส่งผลให้ การแซงอุ่นใจในทุกจังหวะ

ยิ่งถ้าเราคิกค์ดาวน์แบบต่อเนื่อง 2 ครั้งซ้อน จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการขับรถวอลโว่ในอดีตทีเดียว เนื่องจากกำลังมาต่อเนื่อง รถแรงไม่มีตก หรือออกอาการรอรอบแต่อย่างใด โดยเราสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 190 กม./ชม. บนถนนที่ว่างไร้รถร่วมทาง ขณะที่ความเร็วสูงสุดตามโบชัวร์ระบุไว้ 195 กม./ชม.

บนโทรลเวย์ เราได้ลองปรับเปลี่ยนโหมดของช่วงล่างเหมือนแบบที่ขับในย่างความเร็วปานกลาง พบว่า ความรู้สึกเหมือนเช่นการขับที่ผ่านมาคือ โหมดคอมฟอร์ตเหมาะสมที่สุดกับถนนเมืองไทย ขณะที่โหมดสปอร์ตและแอดวานซ์ ให้ความรู้สึกโยนตัวน้อยกว่าแต่รับรู้แรงสะเทือนจากผิวถนนชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน





หลังจากลองขับแบบทางยาวๆ รับรู้ถึงสมรรถนะที่เปลี่ยนไปของเจ้าเอ็กซ์ซี60 แล้ว ลองมาใช้งานแบบวิ่งในเมือง ตัวถังดูภายนอกเหมือนจะใหญ่โตแต่เมื่ออยู่หลังพวงมาลัย สามารถขับซอกแซกได้อย่างไม่ต้องกังวลด้วยมุมมองของกระจกกว้างและทัศนวิสัยที่ดี มีเซนเซอร์รอบคัน คอยเตือนรถที่มาในมุมอับ รวมถึงอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยอันทันสมัยใส่มาให้อย่างมากมาย

หากจะให้เราเอ่ยถึงอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทั้งหมดคาดว่าพื้นที่จะไม่พอดังนั้นขอละไว้ให้ไปดูที่โชว์รูมเอง สำหรับสิ่งสำคัญที่จะลืมมิได้คือ อัตราการบริโภคน้ำมัน ตามการแสดงผลของหน้าจอระบุตัวเลข 9.4 กม./ลิตร จากการทดลองวิ่งทั้งหมดราว 300 กม. โดยส่วนใหญ่เป็นการขับแบบในเมือง

สรุป หากคุณกำลังมองหารถเอสยูวีสักคันที่มีความแปลก และฉีกแนว เอ็กซ์ซี60 ดูจะตอบโจทย์นั้นได้ แต่กับค่าตัว 3.999 ล้านบาท(ยังไม่รวมออพชั่นพิเศษ) ซึ่งแพงกว่า เอ็กซ์ซี90 ที่มีขนาดใหญ่กว่าและเป็นรุ่นสูงสุดของรถประเภทนี้ของวอลโว่ จึงทำให้ใครที่จะเลือกคบเอ็กซ์ซี 60 ต้องคิดหนักพอสมควร

ขอบคุณบทความจาก ผู้จัดการออนไลน์

Honda Freed


พลันหลังการเปิดตัวและแจ้งราคาอย่างเป็นทางการของ “ฮอนด้า ฟรีด” รถยนต์ในเซกเมนต์ใหม่ของค่ายฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้เหล่าสาวกของค่ายนี้ต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “แพง” ด้วยเหตุสนนราคาเริ่มต้นของฮอนด้า ฟรีดที่เคาะไว้ 894,500 บาท ส่วนรุ่นท๊อป 1,074,500 บาท

การตั้งราคาดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากแผนการตลาดซึ่งทีมงานฮอนด้า เปิดเผยให้กับสื่อมวลชน ก่อนการทดลองขับว่า ช่วงราคาดังกล่าวเป็นจุดที่ว่างอยู่ของรถในเซกเมนท์เอนกประสงค์ (MPV) ที่หากคุณดูราคาแล้วจะไม่พบรถMPVในระดับราคา 8 แสนกว่า-1 ล้านบาท ดังนั้นช่องว่างดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายของ ฮอนด้า ฟรีด ในการเข้ามาทำตลาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูที่ตัวรถแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองว่า ฟรีด มีพื้นฐานเครื่องยนต์และแชสซีส์มาจาก แจ๊สและซิตี้ รวมถึงเครื่องยนต์แค่ 1.5 ลิตร ดังนั้นราคาไม่ควรจะแตกต่างกันมากมาย ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างไร โดยผู้บริหารระดับสูงของฮอนด้า ตอบคำถามนี้ว่า “อย่าไปมองตรงจุดนั้น ให้มองที่อรรถประโยชน์ของตัวรถประตูสไลด์ไฟฟ้า 2 บาน แบบนี้มีแต่ในรถราคา 2-3 ล้านบาท”

เมื่อผู้บริหารออกปากเช่นนี้เราคงหมดคำถาม แต่ประเด็นดังกล่าววิเคราะห์ได้ไม่ยาก ระหว่างรถที่ ฮอนด้า(ประเทศไทย) ผลิตในเมืองไทย กับรถที่รับมาขายจากอินโดนีเซีย ฮอนด้าเมืองไทย อยากขายรถรุ่นไหนมากกว่ากัน ฉะนั้นการตั้งราคา ฟรีด เพื่อให้แจ๊สหรือซีวิคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

เรื่องการตั้งราคาขอจบไว้เพียงเท่านี้ กลับมาเข้าเรื่องของการทดลองขับ ฮอนด้า ฟรีด ดีกว่าว่าตัวรถแท้จริงแล้วน่าคบหา หรือเลือกไว้ใช้สักเพียงใด

ฮอนด้า วางแผนให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับฟรีด ไป-กลับ ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-หัวหิน โดยจัดรุ่นท๊อปสุดมาให้นั่งกันคันละ 3-4 คน ซึ่งคันของเรามีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด 3 ชีวิต ผู้เขียนเลือกนั่งในตำแหน่งผู้โดยสารตอนหน้าก่อนเป็นลำดับแรก ด้วยหวังจะศึกษาระบบนำทาง(Navigator)ว่าเป็นเช่นไร


แต่ก่อนจะขึ้นไปนั่งประจำการ เราขอลองเล่นระบบประตูสไลด์ไฟฟ้า ที่ถือเป็นจุดขายและลูกเล่นโดดเด่นที่สุดของเจ้าฟรีด คันนี้ การเปิดประตูง่าย เพียงดึงมือจับเหมือนเราเปิดรถปกติ แล้วประตูจะสไลด์ เปิดออกเองโดยอัตโนมัติ ส่วนการปิด ก็เพียงดึงมือจับเหมือนเช่นเดิม ประตูจะปิดอัตโนมัติ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการจะโดนหนีบ เพราะมีระบบเซ็นเซอร์ ประตูจะหยุดทันทีเมื่อมีสิ่งกีดขวาง

นอกจากนั้น ยังไม่ต้องกังวลว่า ระหว่างการขับ หากเด็กหรือใครทำเรื่องไม่เข้าท่า ด้วยการคิดจะเปิดประตูบานสไลด์ ขอบอกว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ฟรีด ก็มีระบบป้องกัน ถ้าดึงเพื่อหวังจะเปิด ประตูจะปลดล็อกสเตปแรกแต่จะไม่เลื่อนออกมา ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะประตูสไลด์จะเปิดได้ระหว่างที่รถกำลังวิ่งอยู่


เมื่อได้ลองจนหนำใจแล้ว เราเข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้โดยสารตอนหน้า แล้วมาลองเล่นลูกเล่นอื่นดูบ้าง คอนโซลหน้าดีไซน์สวยสุดยอด โดนใจเราและสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทาง ที่สำคัญยังเหมือนกับรุ่น สเตปวากอน(MPVขนาดกลางของฮอนด้า)ที่ค่ายผู้นำเข้าอิสระนำเข้ามาจำหน่ายในราคาคันละกว่า 2 ล้านบาท

คอนโซลหน้า ดีไซน์แบบ 2 ชั้น มีพื้นที่โล่งพอจะวางเน็ตบุ๊คได้สบาย ปุ่มปรับแอร์เป็นแบบอัตโนมัติ คันเกียร์วางอยู่ตรงกลางคอนโซล มีที่วางแก้วอยู่ตรงช่องแอร์ รู้ใจคนใช้รถเมืองไทยที่ชอบเอาแก้วน้ำวางตรงช่องแอร์ หน้าจอระบบนำทางมาพร้อมกับเครื่องเสียงวางอยู่ตำแหน่งตรงกลางบนของคอนโซลให้มุมมองกว้าง แต่คนที่มองจากแถวหลังจะเห็นไม่ค่อยชัดเท่าคนอยู่ด้านหน้า




หลังจากออกเดินทางจากร.ร.สุโขทัย ถ. สาทร เราลองเล่นระบบนำทางพบว่า ใช้ซอฟแวร์ของอีเอสอาร์ไอ ร่วมกับการ์มิน การนำทางดูง่าย แต่การหาสถานที่บันทึกเอาไว้แล้วไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ และเมื่อขับมาถึงจุดพักเปลี่ยนผู้ขับ คราวนี้เราไปประจำการหลังพวงมาลัย

เข้าเกียร์ถอยหลัง เหยียบคันเร่ง เปลี่ยนกลับมาเป็นเกียร์เดินหน้า การตอบสนองของเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร i-VTEC SOHC กำลังสูงสุด 118 แรงม้าที่ 6600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 146 แรงม้าที่ 4800 รอบ/นาที จัดว่าตอบสนองสมตัว กำลังดี ไม่อืดหรือไม่แรงจนเกินความเป็นรถแบบครอบครัวไป

เราขับด้วยความเร็วส่วนใหญ่ราว 120-140 กม./ชม. การเก็บเสียงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างประทับใจเสียงลมเริ่มดังรบกวนเมื่อวิ่งเร็วแตะ 140 กม./ชม. ความเร็วสูงสุดทำได้ 160 กม./ชม. แบบค่อยๆ ไหลขึ้นไป ช่วงล่างถือว่านิ่งดี เกาะถนน แต่มีบ้างในบางจังหวะที่เหมือนรถโคลงเล็กน้อยอาจจะมาจากการเป็นรถทรงสูง เมื่อวิ่งเร็วแล้วเจอลมประทะด้านข้างจึงทำให้รู้สึกดังกล่าว

ขับมาสักพักใหญ่ๆ พวงมาลัยดูจะเป็นสิ่งที่ขัดใจเรา รถราคาเป็นล้านแต่พวงมาลัยธรรมดา ไม่มีระบบมัลติฟังก์ชันแถมยังจับไม่กะชับมือ มีอาการลื่นเมื่อเหงื่อออกมือเนื่องจากผิววัสดุ ส่วนทัศนวิสัยกว้างขวางชัดเจนดี เรือนไมล์สีนำเงิน รูปทรงใหม่ดูทันสมัย และจะดูสวยงามมากเมื่อขับเปิดไฟในเวลากลางคืน


สำหรับระบบเบรก น้ำหนักดีไม่มีอาการหัวทิ่ม แต่ขัดใจเล็กน้อยตรงเรื่องของเบรกหลังเป็นดรัมเบรก ดูไม่สมราคารถ ระบบความปลอดภัยมีให้ครบทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า ABS, EBD และ BA

สุดท้ายเราได้ลองนั่งในตำแหน่งผู้โดยสารแถวที่สอง บนเบาะแบบกัปตัน ซีท รู้สึกว่า เป็นจุดที่นั่งสบายที่สุดของรถ เสียงรบกวนน้อยที่สุด ตรงกลางมีที่ว่างพอให้เด็กๆ วิ่งเล่นทะลุจากด้านหน้ารถมาจนถึงเบาะแถวหลังสุดได้อย่างสบายๆ ส่วนผู้ใหญ่สูงระดับ 173 ซม. ก็พอจะขยับเดินแบบเบียดๆได้เช่นกัน

สรุป เราอยู่กับ ฮอนด้า ฟรีด เป็นระยะทางไปกลับร่วม 400 กม. รู้สึกชัดเจนว่า อรรถประโยชน์ครบถ้วนตรงใจคนมีครอบครัว หรือคนที่มักจะเดินทางด้วยจำนวนผู้โดยสาร 4 คนเป็นประจำ ดีไซน์ภายในทันสมัย สมรรถนะสมกับความเป็นรถครอบครัว แต่ขอเวลาและเหตุผลสนับสนุนความคิดอีกสักหน่อยกับการนำเงินระดับ 1 ล้านบาทแลกกับรถเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรที่มีล้อหลังเป็นดรัมเบรค
ขอขอบคุณบทความจาก ผู้จัดการออนไลน์

Mazda 2



ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรือ บี-คาร์ เซกเมนท์(B-car) ของเมืองไทยเวลานี้ กำลังอยู่ในช่วงขึ้นหม้อที่สุด เมื่อค่ายรถยนต์ต่างหันมาให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมาสด้า ฟอร์ด นิสสัน และทาทา ที่ตระเตรียมโปรดักต์มาชิงเค้กก้อนนี้ หลังจากที่มีผู้ครองตลาดหลักอยู่เพียง 2 รายคือ โตโยต้า และฮอนด้า นำทีมโดย วิออส-ยาริส กับ ซิตี้-แจ๊ส ตามลำดับ

และแล้ว มาสด้า กลายเป็นน้องใหม่ของตลาดรถเล็ก ด้วยการปล่อย “มาสด้า 2” โปรดักต์ความหวังสูงสุดของ มาสด้า เซลล์ ประเทศไทย เข้าสู่ตลาดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาดมียอดจองตั้งแต่ลงโชว์รูม(ราว 3-4 วันก่อนเปิดตัว)ถึง 1,100 คัน ทั้งที่ยังไม่เปิดตัว

ขณะที่เป้าหมายใหญ่คือ ยอดขายปีละ 15,000 คัน หรือราว 1,200 คันต่อเดือน ถือว่าไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับแบรนด์รถมาสด้า ผู้เล่นรายล่าสุดของเซกเมนท์นี้ ส่วนกำลังการผลิตเหลือเฟือเนื่องจาก อย่างที่ทราบกันว่า มาสด้าและฟอร์ด ทุ่มทุนกว่า 17,000 ล้านบาทสร้างโรงงานใหม่เพื่อผลิตรถเล็กโมเดลใหม่ของทั้ง 2 ค่าย โดยมีกำลังผลิตสูงสุดถึง 120,000 คันต่อปี (แบ่งกันค่ายละ 60,000 คัน)


สำหรับ มาสด้า 2 หลังเปิดตัวเพียง 2 วัน ทีมงานมาสด้า ก็จัดทริปทดลองขับ มาสด้า2 ให้กับสื่อมวลชนทั้งของไทยและอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มาสด้าส่งออกเจ้า 2 จากโรงงานในประเทศไทยเข้าไปจำหน่าย

โดยเลือกเส้นทางทดลองขับกันที่เชียงใหม่ นัยว่าเพื่อให้ได้ลองเข้าโค้ง และการขึ้น-ลงถนนลักษณะภูเขา อันจะแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะของตัวรถอย่างเต็มที่ ซึ่งเรา “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” ไม่พลาดร่วมขบวนทดลองขับ โดยถูกให้ประจำการในรุ่นท๊อปออฟไลน์(Maxx)ของมาสด้า 2 แต่ก่อนจะไปถึงบททดลองขับเรามาทำความรู้จักมาสด้า 2 กันสักนิด


ภายนอก มองเหลียวหลัง
มาสด้า 2 โฉมที่เราเห็นนี้คือ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งเมืองไทยของเราเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังจากเจ้า 2 ทำตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกมานานราว 2 ปีกว่า

สิ่งแรกที่เรารู้สึกหลังจากเห็นคันจริงของ มาสด้า 2 คือ มันสวยจริงๆ แต่เรื่องอย่างนี้ถือเป็นนานาจิตตัง ความสวยเป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่มีถูกหรือผิด แล้วแต่ใครจะชอบ ซึ่งนอกจากเราแล้วสื่อมวลชนหลายท่านก็ชอบเช่นกัน รวมถึง คณะกรรมการของหลากหลายประเทศ หลากหลายเวที ที่ต่างมอบรางวัลแด่ มาสด้า 2 รวมแล้วกว่า 50 รางวัลจากทั่วโลกนับตั้งแต่เปิดตัวสู่ตลาด


นอกจากนั้น ระหว่างการขับบนถนนเมืองเชียงใหม่ แทบทุกสายตา จะจับจ้องมองมายัง ขบวนมาสด้า2 ที่เราขับกันอยู่ มองกันชนิดเหลียวหลังหรือถ้าเป็นคนก็คงต้องมีเขินอายกันบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากความสดใหม่ และอีกส่วนย่อมมาจากแรงดึงดูดของตัวรถเอง

สำหรับรุ่นท๊อป(Maxx)จะได้ล้อแม็กขอบ 16 นิ้วขณะที่รุ่นล่าง(Groove) ทั้งเกียร์ธรรมดาและออโต้จะได้กะทะล้อขอบ 15 นิ้ว ส่วนรุ่นกลาง(Spirit)จะได้ล้อแม็กขอบ 15 นิ้ว โดยมีลวดลายแตกต่างกัน เรียกว่าแค่ดูแม็กภายนอกก็จำแนกรุ่นย่อยได้แล้ว

ภายใน สปอร์ตพอดีตัว
เมื่อได้เข้าไปนั่ง เบาะค่อนข้างออกแนวสปอร์ต แม้จะเป็นผ้าแต่ฟองน้ำหนาและรู้สึกแข็งกำลังดี ไม่นุ่มยวบ ส่วนอุปกรณ์ มีไม่เยอะและจัดวางอยู่ในตำแหน่งใช้งานง่าย ดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ แป้นเกียร์อยู่ตรงกลางคอนโซลหน้า เพื่อให้มีเนื้อที่ว่างตรงคอนโซลกลาง

สำหรับรุ่นท๊อป พวงมาลัยเป็นมัลติฟังก์ชั่น ควบคุมเครื่องเสียงได้ รวมถึงมีปุ่ม Info ที่แสดงข้อมูลค่าต่างๆ ของการขับขี่ไม่ว่าจะเป็น อัตราการบริโภคน้ำมันทั้งเฉลี่ยและแบบเรียลไทม์, ระยะทางที่จะวิ่งได้ของน้ำมันที่เหลือในถัง, อุณหภูมิภายนอก และความเร็วเฉลี่ย เป็นต้น เรียกว่าครบถ้วนไม่น้อยหน้าคู่แข่ง

ด้านคุณภาพของวัสุดบอกตรงๆ ว่า ส่วนใหญ่ดูดีและสมกับราคาค่าตัว อาจมีบ้างที่พลาสติกบางชิ้นจะไม่ถูกใจใครบางคน ช่องแอร์ดีไซน์เป็นทรงกลม มีประโยชน์ในการใช้งานมาก ปรับทิศทางลมได้ดั่งใจปราถณา ตรงคอนโซลกลางมีช่องสำหรับเสียบเครื่องเล่นเพลง ไอ-พอด ด้วย

เครื่องยนต์ สมคำซูม ซูม
มาสด้า 2 ทุกรุ่นย่อยหัวใจบรรจุเครื่องยนต์เบนซิน MZR แบบ DOHCขนาด 1.5 ลิตรมีระบบเปิด-ปิดวาล์วแปรผันอิเล็กทรอนิกส์แบบ S-VT (Sequential Valve Timing System) และระบบช่วยควบคุมการไหลของไอดี TSCV (Tumble Swirl Control Valve) ให้กำลังสูงสุด 103 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 135 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบ/นาที

เครื่องยนต์ตัวนี้ ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 และรองรับเชื้อเพลิงชนิด อี20 ด้านระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด (รุ่นเกียร์ธรรมดาจะเป็น 5 สปีด) ช่วงล่างหน้า อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง หลังเป็นแบบ กึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม พร้อมเทรลลิ่งอาร์ม ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลังดรัม

สมรรถนะ นิ่ง หนึบ แน่น
เราเลือกประจำการแรกที่ตำแหน่งผู้โดยสารด้านหน้าเบาะซ้าย ปรับเบาะให้พอดีตัว เหลือพื้นที่ว่างด้านหน้า วางขาพอสบายๆ พอมาสด้า 2 เริ่มเคลื่อนขบวนออกเดินทาง เราจับสังเกตุเรื่องของความนุ่มนวลของช่วงล่างเป็นสิ่งแรก ซึ่งพอบอกได้ว่า นุ่มในแนวสปอร์ต ระดับน่าจะอยู่กึ่งกลางระหว่างยาริสกับแจ๊ส

หลังจากนั้นเราไปนั่งตำแหน่งเบาะหลังด้านซ้าย โดยเบาะหน้ายังคงตำแหน่งเดิมที่เราปรับไว้สำหรับคนสูงขนาด 173 ซม.นั่งสบาย เมื่อเข้านั่งเบาะหลัง ความรู้สึกแรกคือ แคบเหมือนกัน เมื่อนั่งหลังตรงตามแนวเบาะ เข่าชนเบาะหน้า หัวต่ำกว่าหลังคาเหลือช่องว่างเล็กน้อย

ส่วนความรู้สึกระหว่างการนั่งหลังในเวลาขับขี่ ขอใช้คำว่า สบายไม่อึดอัดแต่พอดีเป๊ะ หากต้องนั่งนานๆเกินชั่วโมงคงจะมีเมื่อยแน่ แต่ถ้านั่งแป๊บๆ ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามเสียงยางบดถนน(โดยเฉพาะเมื่อวิ่งบนถนนคอนกรีต)ค่อนข้างดังรบกวนตลอดเวลา เนื่องจากซุ้มล้ออยู่ตรงเบาะนั่งหลัง โดยไม่มีวัสดุเช่นยางบังโคลนหลังมาช่วยซับเสียง

สำหรับความนุ่ม อยู่ในเกณฑ์นั่งเคลิ้มหลับได้ ส่วนสิ่งที่เชิดหน้าชูตาและเด่นที่สุดของมาสด้า 2 ก็คือตัวรถรู้สึกนิ่งมาก โดยเฉพาะเวลาเข้าโค้ง อาการท้ายโยนหรือโคลงตัวแทบไม่ค่อยรู้สึก ตลอดระยะทางกว่า 60 กม.ที่ต้องนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลัง จนมาถึงจุดพักเพื่อเปลี่ยนผู้ขับขี่

หลังจากเราได้เข้าประจำการในตำแหน่งผู้ขับแล้ว ปรับเบาะด้วยมือให้พอเหมาะ เป็นอะไรที่พอดีตัวอย่างมาก ความรู้สึกคล้ายคลึงกับการนั่งอยู่หลังพวงมาลัยรถสปอร์ต ซึ่งจะว่าไปทั้งแจ๊สและยาริส ให้ความรู้สึกที่กว้างกว่า ทั้งนี้สุดแท้แต่ว่า ใครจะชอบแบบไหน

ติดเครื่องยนต์ด้วยการบิดที่ปุ่มสตาร์ท ส่วนกุญแจรีโมทอัจฉริยะ(เข้ารถได้โดยไม่ต้องกดเปิด)วางอยู่ตรงคอนโซลกลาง เหยีบคันเร่งออกตัว แรงกำลังดี ไม่มีอาการรอรอบ พวงมาลัยแบบแรคแอนด์พิเนียนพร้อมพาวเวอร์ไฟฟ้า(EPAS)ให้ความรู้สึกกระชับ และแม่นยำมาก รัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 4.9 เมตร

ช่วงแรกของการขับเราเจอกับเส้นทางโค้งหลากหลาย ทั้งขึ้นเขา ลงเขา หักศอก แต่มาสด้า 2 ทำให้เรามั่นใจได้ทุกโค้ง ด้วยช่วงล่างที่หนึบ ตัวรถนิ่ง พวงมาลัยคม เบรกอยู่น้ำหนักกำลังดี ไม่มีหัวทิ่ม ส่วนการใช้ความเร็วอยู่ราว 60-80 กม./ชม. แล้วแต่จังหวะของรถผู้นำขบวน

อย่างที่กล่าว เราขับกันเป็นขบวน ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีจังหวะเร่งแซงแบบรวดเร็ว แต่เราก็ได้ลองคิกดาวน์อยู่บ้างเมื่อมีโอกาส พบว่า การตอบสนองทันใจดี แม้ไม่แรงเท่าคู่แข่งแต่ก็ให้การขับที่สนุกสนานได้ เสียดายอยู่บ้างตรงเรื่องของ เสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามารบกวนภายในห้องโดยสารเมื่อรอบวิ่งไปแตะระดับ 4000 รอบ/นาที

ทั้งนี้ในระหว่างการขับ รถคันของเราจะมีเรื่องของแอร์เย็นไม่ถึงใจ (คือเย็นแต่ไม่ฉ่ำ แม้จะปรับเย็นสุดแล้วก็ตาม) สร้างความสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร มาทราบจากทีมงานมาสด้าว่า ระบบแอร์จะตัดการทำงานเพื่อส่งกำลังมาช่วยเครื่องยนต์ในจังหวะเมื่อผู้ขับกดคันเร่งคิกดาวน์ หรืออาจจะเป็นเพราะสาเหตุอื่นคงต้องตรวจสอบอีกครั้ง

การขับความเร็วคงที่ 100 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์อยู่ประมาณ 2800 รอบ/นาที ส่วนที่ความเร็ว 120 กม./ชม. รอบเครื่องอยู่ระดับ 3300 รอบ/นาที ถือว่าสูงกว่าคู่แข่งในเซกเมนท์เดียวกันพอสมควร เสียงลมประทะกระจกหน้าเริ่มดังรบกวนที่ความเร็วเกิน 110 กม./ชม. ส่วนความเร็วสูงสุดเราขับได้ 120 กม./ชม.(เพราะขับเป็นขบวน) ตัวรถยังนิ่งให้ความรู้สึกเกาะถนนดี

ขณะที่อัตราการบริโภคน้ำมันตามการแสดงผลของคอมพิวเตอร์ในรถกับระยะทางการขับทั้งหมดของผู้เขียน 64..6 กม. ระบุตัวเลข 6.7 ลิตร/ 100 กม. หรือคิดเป็น 14.9 กม./ลิตร ซึ่งตัวเลขดังกล่าว จัดอยู่ในเกณฑ์ไม่น้อยหน้ากับคู่แข่งกับการขับด้วยความเร็วย่าน 60-100 กม./ชม. วิ่งผสมผสานทั้งแบบในเมือง-นอกเมือง

สรุป น้องใหม่ของตลาดรถเล็ก “มาสด้า 2” จากการได้สัมผัสแม้เพียงระยะเวลาไม่นาน เราประทับใจกับช่วงล่างที่นิ่ง หนึบ และแน่น เครื่องยนต์ขับสนุก ภายในให้ความรู้สึกสปอร์ต ภายนอกรูปทรงสวยงาม บวกกับราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด ถ้าไม่นับเป็นหนึ่งในตัวเลือกก็ดูจะใจร้ายเกินไป
ขอขอบคุณบทความจาก ผู้จัดการออนไลน์